image

พาไปวัด

image
image
image

วัดไผ่ล้อม

image
วัดไผ่ล้อม

อดีตความรุ่งเรือง ศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ณ เมืองเพชรบุรี

วัดไผ่ล้อม เป็นวัดร้างกลางเมืองเพชรบุรี สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มองดูจากสภาพที่หลงเหลือในปัจจุบันแล้ว คิดว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

อุโบสถของวัดไผ่ล้อมนั้นเครื่องบนได้พังทลายลงมาหมด ตอนที่ผมได้เดินสำรวจเงยหน้ามองขึ้นมาด้านบนเห็นหน้าบันชั้นในมีลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และบริเวณหน้าบันชั้นนอกเป็นรูปนกยูงรำแพนหางงดงามมาก บริเวณกำแพงรอบอุโบสถยังมีอิฐเก่าสีแดงให้เห็นอยู่ อิฐแดงหลายๆก้อน ถ้าลองมองพิจรณาดีๆ จะพบว่าในเนื้ออิฐนั้นยังมีแกลบ มีข้าวเปลือกผสมอยู่ให้เห็นเป็นหลักฐานความเก่าแก่สมัยอยุธยาอยู่นะครับ

ลักษณะของอุโบสถของวัดไผ่ล้อมนั้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ที่มีลักษณะพิเศษ คือ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน บริเวณส่วนหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปัจจุบันยังมีสภาพสวยงามสมบูรณ์ (ส่วนตัวคิดว่าคงได้รับการบูรณะใหม่) ส่วนหลังเป็นโถงโล่ง มีผนังกั้นกลาง และเจาะช่องประตูตรงกลาง ๑ ช่อง หน้าบันของผนังชั้นนี้ มีการประดับลวดลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ถัดลงมาเป็นลายปูนปั้นเต็มผนัง ป็นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของเหล่าคณะสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกาไปสักการะพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ ลังกาทวีป ตอนกลางของผนังเป็นรูปเขาสุมนกูฏ มีรูปรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับไว้บนยอดเขา

ถ้าพิจารณาดีๆจะเห็นภาพโซ่เหล็กยาวลงมา ซึ่งเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง ณ สถานที่จริงที่ใช้สำหรับปีนป่ายขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่อยู่บนยอดเขา ปัจจุบันนี้ ณประเทศศรีลังกา ที่เขาสุมนกูฏ ก็ยังมีให้เห็นอยู่

เราจะเห็นลายปูนปั้นเป็นรูปพระสงฆ์เดินขึ้นไปบนเขาแต่ละชั้นๆ ด้านข้างๆก็มีศาลาให้พักผ่อน และยังมีลายปูนปั้นเป็นรูปสถานที่สำคัญของลังกา เช่น พระราชวังของพระเจ้ากรุงลังกา และ โลหะปราสาท เป็นลวดลายปูนปั้นที่แปลกตา และคิดว่าคงจะไม่มีให้เห็นที่อื่นใด นอกจากวัดไผ่ล้อมแห่งนี้

ปัจจุบันสภาพของวัดไผ่ล้อมนั้นทรุกโทรมลงมาก ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินทรายอยู่ในสภาพชำรุดหลายองค์ เป็นที่น่าเสียดายจริงๆที่วัดนี้ขาดการดูแล ทั้งๆที่เป็นวัดที่งดงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่หาชมได้ยากอยู่หลายสิ่งเลยทีเดียว

ท่านใดมาเที่ยวชมวัดไผ่ล้อมก็ขอให้ช่วยกันรักษาความสะอาด และไม่หยิบวัตถุสิ่งของใดๆของวัดติดมือกลับมา ห้ามโยกย้ายขยับเขยื้อนวัตถุภายในวัดโดยเด็ดขาดนะครับ เราต้องช่วยกันดูและรักษาเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็นได้ศึกษาอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองเพชรบุรีแห่งนี้ไว้ครับ

(บันทึกภาพ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓)