image

พาไปวัด

image
image
image

วัดไลย์

image
วัดไลย์

วัดไลย์ จ.ลพบุรี นอกจากพระศรีอาริย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ที่วัดไลย์แห่งนี้ยังมีวิหารเก่าแก่
ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังคงสภาพสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ชมกันในปัจจุบัน
 

น่าเสียดายที่วัดไลย์นั้นไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้คนมากนัก ถ้ามาเที่ยวลพบุรีชมเมืองลพบุรีแล้ว
 ลองขับเลยออกมาทางอ.ท่าวุ้งมาที่วัดไลย์ คุณจะรู้ว่าวัดแห่งนี้มีของดีที่หาชมได้ยากอยู่หลายอย่างจริงๆ
 

เมื่อมาถึงวัดไลย์เราจะเห็นอุโบสถสีทองอร่าม ซึ่งมีผู้มาทาสีทองแบบที่เราเห็นกันนี้ในช่วงหลัง
แต่ก่อนนี้อุโบสถหลังนี้ไม่ใช่สีทองแบบนี้ มองแล้วก็รู้สึกเสียดายเพราะตัวผมเองเคยมาวัดไลย์ตั้งแต่เด็กๆ
หลายสิบปีก่อน ส่วนตัวแล้วรู้สึกชอบอุโบสถแบบเดิมที่ไม่ใช่สีทองแปร้นแบบนี้

การมาวัดไลย์ครั้งนี้ผม Focus ไปที่วิหารเก่าแก่ของวัดซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
และถูกบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่ออู่ทอง
 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระพุทธชินราช เพราะมีซุ้มเรือนแก้วประดับอยู่ด้านหลังเหมือน 
พระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก แต่เมื่อพิจารณาลักษณะขององค์พระแล้ว 
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปในสมัยอู่ทอง องค์พระนั้นจำหลักหินทรายแดงแบบลอยตัว 
องค์ใหญ่มหึมาประทับนั่งขัดสมาธิราบ ไม่ใช่มารวิชัยแบบที่พิษณุโลก 

ซึ่งพระประธานองค์นี้ถูกปูนพอกทับอีกชั้นหนึ่ง และลงรักปิดทอง 
มีผู้รู้ได้สันนิษฐานกันว่าพระประธานองค์นี้น่าจะเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยา 
บางท่านกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยอโยธยาเลยเสียด้วยซ้ำ 
ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้คงมีมาแต่แรกเดิมก่อนจะสร้างวิหารหลังนี้

เมื่อกราบหลวงพ่ออู่ทองกันแล้วก็ขอให้เดินชมวิหารหลังนี้กันนนะครับ 
ถอยมาจากพระประธานมาในส่วนประตูผนังสกัดภายในอาคาร 
มีงานปูนปั้นประดับหน้าบันเป็นฉากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ 
ลายปูนปั้นส่วนนี้มีความงดงามมาก ผมมองแล้วได้รับอิทธิพลขอม (เขมรโบราณ) 
มาอย่างเต็มที่ทั้งลวดลาย และคติความเชื่อด้านล่างประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยาปางมารวิชัยงดงามมาก

เดินออกไปด้านนอกวิหาร ไปชมผนังสกัดด้านหน้ามีลายปูนปั้นละเอียดงดงามเป็นที่สุด 
เรียกว่าเป็น Best of the best เลยก็ว่าได้ ตรงกลางมีปูนปั้นเรื่องราวพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ 
ป้ั้นเป็นรูปพระพุทธรูปปางประทานอภัยเพียงพระหัตถ์เดียว ยืนประดิษฐานในซุ้มปราสาทยอด 
มองดูดีๆจะเห็นรูปนกยูงและรูปกระต่ายตัวน้อยๆในวงล้อขนาบสองข้างของพระพุทธองค์ 
(ได้รับอิทธิพลจากพม่า) และที่สะดุดตาก็คือ มีการปั้นกรอบเส้นสี่เหลี่ยม 10 ช่อง 
แบ่งเป็นเรื่องเล่าชาดกในมหานิบาต 10 เรื่อง หรือที่เรียกว่าทศชาติชาดกนั่นเอง 
ซึ่งการปั้นปูนทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมแบ่งเป็นช่องๆลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแขกมัวร์เปอร์เซียอีกด้วย

ส่วนผนังสกัดด้านหลังของวิหารนั้นมีลายปูนปั้นเป็นรูปบุคคลประทับในบุษบก มีเทพธิดารายล้อม 
ด้านล่างเป็นรูปเทวดาร่ายรำในท่าแบกบุษบก และรอบๆด้านนั้นปั้นเป็นรูปกองทัพต่างๆ 
ซึ่งผมเองก็มองไม่ออกว่าเป็นการเล่าเรื่องอะไร แต่มีหลายท่านให้ความเห็นว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมาร 
แต่ผมมองแล้วรู้สึกยังไม่ใช่สักทีเดียว

ลายปูนปั้นของวัดไลย์นั้นเป็นการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน มีทั้งวัฒนธรรมมอญ
 พม่า อินเดีย สุโขทัย จีน เขมรโบราณ และเปอร์เซีย ซึ่งเป็นช่วงที่อยุธยามีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติในขณะนั้น 
ลองมาชมและพิจารณากันดูนะครับ
 

อดีตอันรุ่งเรืองของลพบุรีได้ถูกรวบรวมไว้ในวัดไลย์แห่งนี้แล้ว 
วิหารเก่าแก่ของวัดไลย์ตั้งตระหง่านผ่านร้อนผ่านหน่าวมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ 
ถูกบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และรอให้ทุกๆท่านเดินทางไปชมให้เห็นกับตาครับ